“Post-Summit Briefing” ชูประเด็นวิกฤติเศรษฐกิจกรีซเป็นหลัก

1. ผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองภายในต่อสถานการณ์ทางการเมืองระดับสหภาพฯ
นาย Krupa กล่าวว่า การนำเสนอต้นเหตุและพัฒนาการของวิกฤตของกรีซในปัจจุบันต้องใช้ความระมัดระวังและไม่ควรมองว่าเป็นประเด็นความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยในการปฏิเสธเงื่อนไขนโยบายรัดเข็มขัดจากฝ่ายเจ้าหนี้ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรค Syriza นำเสนอ โดยได้วิเคราะห์ว่า รัฐบาลของนาย Alexis Tsipras นายกรัฐมนตรีของกรีซ ไม่ได้มีความพยายามที่แท้จริงที่จะบรรลุข้อตกลงในการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการประนีประนอมกัน ในขณะเดียวกัน ภาวะผู้นำทางการเมืองระดับสหภาพฯ ของเยอรมนีก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ยากลำบากที่สุดของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตลอดวาระการดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลากว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม นาย Emmanouilidis เห็นว่า การที่วิกฤตของกรีซดำเนินมาถึงทางตันในขณะนี้มีสาเหตุมาจากทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน แต่เห็นด้วยว่า นาง Merkel ขาดทุนทางการเมืองในประเทศไปกับความพยายามเจรจากับนาย Tsipras อย่างมาก
2. ความเสี่ยงที่กรีซจะต้องออกจากเขตสกุลเงินยูโรหรืออียู
หลังจากความล้มเหลวที่จะหาข้อสรุปในที่ประชุม Euro Summit นาย Emmanouilidis กล่าวว่า กรีซไม่สามารถชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้อย่างแน่นอน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเริ่มต้นของวิกฤตการเงินของธนาคารในกรีซ และอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันหรือสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่กรีซต้องนำเข้าในที่สุด นอกจากนี้ นาย Emmanouilidis ยังเห็นว่า ผลกระทบจากการไม่สามารถชำระหนี้ IMF ของกรีซต่อความสามารถในการเข้าถึงกลไกให้ความช่วยเหลือ European Financial Stabilisation Facility จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ในชั้นนี้ กรีซไม่น่าที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาของกรีซในระยะยาวได้ ในขณะที่ ระยะสั้น ทุกฝ่ายควรที่จะพยายามให้ความช่วยเหลือกรีซให้เป็นสมาชิก อียูได้ต่อไป
3. การคาดการณ์ผลการลงประชามติของกรีซ
นาย Emmanouilidis กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีของกรีซประกาศว่า รัฐบาลจะจัดให้ประชาชนชาวกรีซลงประชามติเกี่ยวกับเงื่อนไขของโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยฝ่ายเจ้าหนี้ของกรีซ แหล่งข่าวต่างๆ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีได้พยายามให้นายกรัฐมนตรีของกรีซเปลี่ยนใจ หรือหากกรีซยังคงยืนยันที่จะจัดทำประชามติ คำถามสำหรับการลงประชามติก็ควรมีความชัดเจนว่า กรีซจะยังคงต้องการที่จะอยู่ในเขตสกุลเงินยูโรต่อไปหรือไม่ แทนคำถามที่มีความซับซ้อนและยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกรีซยืนกรานที่จะให้ประเด็นการยอมรับเงื่อนไขจากฝ่ายเจ้าหนี้เป็นคำถามในการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม หากผลการลงประชามติเป็นการยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายเจ้าหนี้ รัฐบาลกรีซจะประสบปัญหาอย่างมากในการดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่หากผลการลงประชามติเป็นการปฏิเสธเงื่อนไข นาย Emmanouilidis คาดว่า สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายกว่าการยอมรับเงื่อนไข โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค Syriza ควรจะอธิบายแผนการหรือขั้นตอนต่อไป
4. ท่าทีของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
นาย Krupa เห็นว่า คำกล่าวของนาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และการเผยแพร่สถานะของการเจรจาระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้กับกรีซครั้งสุดท้าย มีนัยทางการเมืองที่สำคัญเนื่องจากเป็นการแสดงถึงความไม่ไว้ใจรัฐบาลกรีซในการสื่อสารกับประชาชนของกรีซ ในขณะเดียวกัน นาย Emmanouilidis เห็นว่า คำกล่าวของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกส่วนตัวของนาย Juncker ที่ไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่ของนาย Tsipras ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่นาย Emmanouilidis ก็กล่าวด้วยว่า คำแถลงสื่อมวลชนของนาย Juncker เป็นการกล่าวโทษฝ่ายอื่น ซึ่งเป็นลักษณะความเชี่ยวชาญทางการเมืองในระดับสหภาพ รวมทั้งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของนาย Juncker
5. ประเด็นอื่น ๆ
การสัมมนาได้วิเคราะห์การจัดทำประชามติในประเด็นสมาชิกภาพอียูของสหราชอาณาจักร โดยนาย Krupa กล่าวว่า การเรียกร้องการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยการดำเนินการของสหภาพยุโรป (Treaty on the Functioning of the European Union) ของนาย David Cameron ในช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้นำอื่นๆ โดยที่ประชุมของคณะมนตรียุโรปได้ตัดสินใจที่จะหารือประเด็นนี้อีกครั้งในเดือนธันวาคม 2558
6. ช่วงถาม – ตอบ
นาย Krupa ตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของอียู โดยวิเคราะห์ว่า การเรียกร้องนโยบายรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียวเป็นการดำเนินนโยบายอย่างสุดขั้วเกินไป แต่ในที่สุดแล้วประเทศสมาชิกต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่นาย Emmanouilidis แย้งว่า ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกหลัง Lehman Brothers ล้มละลาย อียูยังไม่เคยมีโอกาสดำเนินนโยบายทางเลือกอื่นๆ โดยประเด็นความยั่งยืนในความสามารถชำระหนี้ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งการปฏิเสธที่จะปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการยกหนี้บางส่วนให้แก่กรีซเป็นความผิดพลาดของฝ่ายเจ้าหนี้
อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาแสดงความเห็นว่า การวิเคราะห์ดังกล่าวของนาย Emmanouilidis เป็นการมองเพียงข้างเดียว โดยนโยบายที่ประเทศอื่นๆ หรือรัฐบาลชุดที่แล้วของกรีซได้ดำเนินตามเงื่อนไขได้ให้ผลลัพธ์ตามที่ได้วางแผนไว้ และแม้ว่าสถานการณ์เศรษศฐกิจของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน นโยบายอื่นๆ อาทิ การชำระหนี้โดยอิงจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นนโยบายที่ดีกว่าการยกหนี้ ซึ่งนาย Krupa กล่าวเสริมด้วยว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งของกรีซ แนวทางปฏิบัติทางการเมืองของนาย Tsipras แสดงถึงความพยายามที่จะบริหารจัดการความคาดหวังของมวลชนไม่ให้สูงเกินไปได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากการได้รับเลือกตั้งแล้ว นาย Tsipras เปลี่ยนแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง
ขอบคุณรูปภาพจาก: http://picpost.postjung.com/215894.html
เบลเยียม, ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในยุโรป
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ประเภทข่าว
แหล่งข้อมูลข่าวเศรษฐกิจ
- กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาร์เจนตินา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแคนาดา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในชิลี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเม็กซิโก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในออสเตรเลีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเมียนมาร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในรัสเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในบราซิล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเยอรมนี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเดนมาร์ก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอียิปต์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในฮังการี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในนอร์เวย์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในปากีสถาน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในศรีลังกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินเดีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิหร่าน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเกาหลีใต้
- ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในฟิลิปปินส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาเลเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในลาว
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในญี่ปุ่น
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในไต้หวัน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในยุโรป
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแอฟริกาใต้
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเซเนกัล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเนปาล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาดากัสการ์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในคูเวต
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิสราเอล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาเซียน