
อุปสงค์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่นขยายตัวท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว
ภายหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศปรับขึ้น ภาษีการขายจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อุปสงค์การบริโภคทั้งสินค้า และบริการภายในประเทศลดน้อยลง และฉุดรั้ง ให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง จนล่าสุดไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่น เหลือร้อยละ 0.9 ในปีนี้ และร้อยละ 0.8 ในปี 2558
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สตรีญี่ปุ่นให้ความสำคัญ ต่อการแต่งกายที่ทันสมัยและนิยมสวมใส่เครื่องประดับ ประกอบกับมีอำนาจซื้อสูง ญี่ปุ่นจึงยังคงเป็นตลาด อัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วยจำนวนประชากรกว่า 127 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย ต่อหัวสูงถึง 37,100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี อีกทั้งญี่ปุ่น กำลังจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริม ให้สตรีทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงอาจมีผลให้พฤติกรรม การบริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกันชาวญี่ปุ่นส่วนมากเริ่มปรับตัวกับ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าอุปสงค์ต่อการบริโภคสินค้า จะกลับมาในไม่ช้านี้ อีกทั้งแผนการปรับขึ้นภาษีการขาย อีกรอบในปลายปีหน้านั้นจะช่วยผลักดันให้มีการนำเข้า สินค้าเพื่อเก็บสต็อกไว้ก่อนการขึ้นภาษี ในขณะที่กลุ่ม เศรษฐีชาวญี่ปุ่นนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยัง คงซื้อสินค้าหรูหราอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อเป็นการลงทุนและสั่งสมสินทรัพย์แม้ในช่วงเวลาที่ เศรษฐกิจชะลอตัว ฉะนั้นผู้ประกอบการไทยที่มองหา โอกาสขยายตลาดญี่ปุ่นในช่วงจังหวะที่กำลังซื้อของผู้บริโภค กำลังหวนกลับมาอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีการขาย อีกรอบ ก็ควรเร่งรุกเจาะตลาดนี้อย่างทันท่วงที
ปัจจัยกระตุ้นการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
ในปี 2556 มูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2 คิดเป็นมูลค่า 849.2 พันล้านเยน หรือเท่ากับ 8.70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยปี 2556) และคาดการณ์ ว่าในปี 2557 นี้ มูลค่าการค้าจะปรับสูงขึ้นอีกร้อยละ 3 หรือมีมูลค่าราว 874.68 พันล้านเยน หรือประมาณ 8.49 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2557) และจะมีมูลค่าเติบโตขึ้น เรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการค้า สินค้านี้สูงกว่า 1 ล้านล้านเยน
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในตลาดญี่ปุ่นคึกคักขึ้นนอกเหนือจากความเชื่อมั่นต่อ ภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายอาเบะโนมิกส์แล้ว ในช่วงก่อนเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็มีการเร่งซื้อ สินค้าฟุ่มเฟือยก่อนการปรับขึ้นภาษีการขาย นอกจากนี้ยังเป็นผลจากกำลังซื้อของกลุ่มเศรษฐีชาวญี่ปุ่นที่มีฐานะดี มีความต้องการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ สินค้าในระดับคุณภาพสูง หรือเป็นสินค้าแบรนด์เนม เพื่อสะสมสำหรับการลงทุนและยังเป็นการส่งต่อความมั่งคั่ง ไปยังลูกหลานรุ่นต่อไปอีกทางหนึ่ง เนื่องด้วยเห็นว่า อัญมณีทั้งเพชรและพลอยร่วงขนาดใหญ่หายากขึ้นทำให้ ราคาสูงขึ้นมาก กอปรกับราคาทองคำในตลาดโลกก็ปรับ ตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกันชาวญี่ปุ่นยังมีประเพณีในการมอบ ของขวัญให้แก่กันในโอกาสพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลคริสต์มาสจะมียอดขายสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วง อื่นๆ ตลอดปี รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เข้ามาซื้อ สินค้าในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากการที่ค่าเงินเยนอ่อนตัว ซึ่ง รวมทั้งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่นที่ราคาไม่สูง เท่ากับในอดีตตามทัศนคติของชาวต่างชาติอีกทั้งแผนการ ปรับเพิ่มภาษีการขายเป็นร้อยละ 10 ในเดือนตุลาคม 2558 นั้นจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการซื้อหรือการนำเข้า สินค้าเพื่อนำไปเก็บสต็อกในประเทศก่อนการขึ้นภาษี อีกรอบ
พฤติกรรมผู้บริโภคญี่ปุ่น
สินค้าที่ครองใจผู้บริโภคในตลาดเครื่องประดับ และอัญมณีมากที่สุดก็คือ เครื่องประดับทอง ซึ่งมี ส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 35 โดยเฉพาะเครื่องประดับ ทองขาวตกแต่งอัญมณี รองลงมาคือ เครื่องประดับ แพลทินัมในสัดส่วนร้อยละ 32 ซึ่งได้รับความนิยมในสินค้าประเภทแหวนหมั้นและแหวนแต่งงานเป็นหลัก ขณะที่เทรนด์ความนิยมเครื่องประดับทองสีชมพูก็กำลัง มาแรงในปีนี้เช่นกัน ทำให้บางแบรนด์หันมาเน้นนวัตกรรม การผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ๆ กันมากขึ้น อาทิ แบรนด์ Tasaki ที่นำเสนอเครื่องประดับทองสีชมพูเฉดซากุระ ที่ เรียกว่า Sakura Gold เพื่อสร้างจุดต่างและเรื่องราวให้กับ ตัวสินค้าขณะที่เครื่องประดับเงินชุบทองหรือเครื่องประดับ เงินประดับมุก พลอยเนื้ออ่อนหรืออัญมณีสังเคราะห์ที่มี ชิ้นงานขนาดเล็กในสนนราคาไม่สูงนักก็ได้รับความนิยมใน ตลาดมากขึ้น
แม้ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนมากจะยังคงนิยมเครื่องประดับ ตกแต่งเพชรหรือมุกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันผู้บริโภคได้เล็งเห็น ถึงคุณค่าและความงามของพลอยสีมากขึ้น เห็นได้ว่า ในตลาดมีการวางจำหน่ายเครื่องประดับพลอยสีเป็น จำนวนมาก กอปรกับผู้ซื้อก็มีความต้องการเลือกซื้อ พลอยสีคุณภาพสูงโดยเฉพาะทับทิม และแซปไฟร์ ซึ่ง หากเป็นทับทิมสีแดงเลือดนกพิราบ (Pigeon’s Blood Ruby) ไพลินสีรอยัลบลู (Royal Blue Sapphire) ไพลินสีคอร์นฟลาวเวอร์บลู (Cornflower Blue Sapphire) ก็จะสามารถตั้งระดับราคาขายได้เพิ่มสูงขึ้นซึ่งนอกจาก หลายบริษัทจะนำเรื่องสีของอัญมณีมาเป็นจุดเด่นในการขาย เพื่อดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังมีการบอกแหล่งที่มาของพลอยอีกด้วย
" ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญ ในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และการออกแบบสินค้ามากกว่าด้านราคา เน้นการสวมใส่เครื่องประดับ ตามไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน"
อย่างไรก็ดี ชิ้นงานเครื่องประดับที่วางจำหน่ายใน ตลาดนี้ส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก เน้นสไตล์เรียบโก้หรู หรือสวยงามมีเอกลักษณ์สะท้อนรสนิยมเฉพาะตัว เพื่อ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ให้ ความสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐานและการออกแบบ สินค้ามากกว่าด้านราคา เน้นการสวมใส่เครื่องประดับ ตามไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน และหากเป็นแบรนด์ สินค้าก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เนื่องจากยากในการ ตรวจสอบสินค้าด้วยตนเอง อีกทั้งผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ยังชอบติดตามกระแสเทรนด์เครื่องประดับตามสื่อ นิตยสาร รวมถึงเครื่องประดับที่บรรดาคนดังและ นักแสดงสวมใส่กันด้วย แฟชั่นจึงเป็นปัจจัยประการหนึ่ง ที่ช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ชื่อเสียง ของแบรนด์ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของ ชาวญี่ปุ่นเช่นกัน
"คนญี่ปุ่นยังนิยมซื้ออัญมณีและ เครื่องประดับตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สร้างยอดขาย ในสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่า การค้าในประเทศ"
นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังนิยมซื้ออัญมณีและ เครื่องประดับตามห้างสรรพสินค้าซึ่งถือเป็นช่องทาง ที่สร้างยอดขายในสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้า ในประเทศ โดยยอดค้าปลีกส่วนมากเป็นการครองตลาด ของแบรนด์หรู High End ระดับโลก เช่น Cartier, Tiffany & Co.,Van Cleef & Arpels, Piaget และ Bvlgari เป็นต้น ขณะที่แบรนด์ชั้นนำของญี่ปุ่นเอง ก็มีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยใช้ กลยุทธ์เปิดร้านสาขาครอบคลุมพื้นที่หลายแห่งในทำเล ต่างๆ ของเมืองใหญ่ ในช่วงนี้มีการเปิดสาขาใหม่ๆ มากมาย เช่น แบรนด์ Mikimoto, Tsutsumi, 4 ∘ C, Vétiré และTasaki รวมถึงมีการปรับกลยุทธ์ส่งเสริม การขาย และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์และขยายฐานลูกค้าใน วงกว้างมากขึ้น
แนวทางเจาะตลาดญี่ปุ่น
ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่นิยมสินค้า คุณภาพสูง เน้นดีไซน์ทันสมัย และความประณีตใน การรังสรรค์ชิ้นงาน ให้ความเชื่อใจกับเครื่องประดับที่มี แบรนด์ จึงยินดีที่จะจ่ายในราคาแพงขึ้น แม้ช่วงเวลา เศรษฐกิจหดตัว กลุ่มผู้ที่มีฐานะร่ำรวยก็ยังนิยมซื้อ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแบรนด์เนมราคาสูง ญี่ปุ่นจึงยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้า นี้ กอปรกับประเทศไทยนับเป็นแหล่งผลิตอัญมณีและ เครื่องประดับคุณภาพดีในสายตาชาวญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดในญี่ปุ่นโดยมุ่งเน้นสินค้าลักษณะดังกล่าวมากกว่า การแข่งขันด้านราคา ดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ระดับกลางถึงบนเป็นหลักด้วยการใช้อัญมณีคุณภาพสูง มาออกแบบชิ้นงานในสไตล์ที่โดดเด่นแปลกใหม่ฉีกหนี จากความเรียบง่ายรูปแบบเก๋ไก๋น่ารักที่วางขายอยู่ในตลาด ขณะนี้
นอกจากนี้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อที่ ชัดเจน นำเสนอสินค้าตามเทรนด์ความนิยมของตลาด และวางช่องทางจำหน่ายที่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนา คุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความสำคัญ กับการสร้างแบรนด์ที่มีศักยภาพผ่านสื่อในหลายช่องทาง เพื่อส่งเสริมแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภค ชาวญี่ปุ่น ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการขยายตลาดสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับช่องทางการเข้าสู่ตลาดในเบื้องต้นเพื่อนำ เสนอรูปแบบสินค้า แนะนำแบรนด์สินค้าของตนให้เป็น ที่รู้จัก หรือดูกระแสตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง ดีไซน์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค รวมถึง สำรวจพฤติกรรมและความนิยมของผู้ซื้อในตลาด และ แสวงหาคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่มีความ เข้าใจถึงตลาดค้าปลีกในเชิงลึกเข้ามาช่วยในการทำตลาด และเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าก็คือ การเข้าร่วมงาน แสดงสินค้าสำคัญในญี่ปุ่น อาทิ งาน Japan Jewellery Fair (JJF) ที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์แสดงสินค้า Tokyo Big Sight Exhibition Center กรุงโตเกียว ซึ่งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2557 นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 22 ใน งานนี้มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 13,860 ราย ส่วนใหญ่เป็น ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้ผลิตเครื่องประดับ และผู้นำเข้า ที่มาเลือกซื้อหาสินค้าสำหรับเก็บสต็อกไว้จำหน่ายใน เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อันเป็นช่วงเวลาที่อุปสงค์ การบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับภายใน ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้า ราว 420 รายจาก 15 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่อีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอสินค้าใน ตลาดนี้หากคิดว่ามีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจแล้ว ก็คือ การติดต่อผู้จัดซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเพื่อวาง จำหน่ายในเคาน์เตอร์โซนเครื่องประดับโดยจัดจำหน่าย ภายใต้แบรนด์สินค้าของตน เนื่องด้วยห้างสรรพสินค้า เป็นแหล่งช๊อปปิ้งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมไปเลือกซื้อเครื่องประดับ มากที่สุดจึงถือเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ได้โดยสะดวกอีกทางหนึ่ง เพื่อประเมินการตอบรับของ ตลาดว่ามีความสนใจในสินค้ามากน้อยเพียงใดก่อนที่จะ วางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับขยายตลาดในวงกว้าง ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจรุกขยายตลาดไป จำหน่ายยังญี่ปุ่น ยังมีความได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาด จากการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่เอื้อประโยชน์ให้มีการยกเลิกภาษี นำเข้าสินค้าระหว่างกัน อันจะเป็นการลดต้นทุนสินค้า และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถตั้งระดับราคา จำหน่ายสินค้าในตลาดนี้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ได้เป็นอย่างดี
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ประเภทข่าว
แหล่งข้อมูลข่าวเศรษฐกิจ
- กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาร์เจนตินา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแคนาดา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในชิลี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเม็กซิโก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในออสเตรเลีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเมียนมาร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในรัสเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในบราซิล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเยอรมนี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเดนมาร์ก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอียิปต์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในฮังการี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในนอร์เวย์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในปากีสถาน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในศรีลังกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินเดีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิหร่าน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเกาหลีใต้
- ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในฟิลิปปินส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาเลเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในลาว
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในญี่ปุ่น
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในไต้หวัน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในยุโรป
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแอฟริกาใต้
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเซเนกัล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเนปาล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาดากัสการ์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในคูเวต
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิสราเอล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาเซียน