
USFDA กำลังตรวจจับกุ้งแช่เยือกแข็งนำเข้าที่มีการเจือปนสกปรก ในปี 2014 ทั้งปี กุ้งแช่เยือกแข็งที่ถูก USFDA ปฎิเสธการนำเข้าสหรัฐฯ (import refusal) มีจำนวน 208 รายการ ตามที่ระบุบนเอกสารนำเข้า (entry lines) ด้วยเหตุผลว่ามียาปฏิชีวนะต้องห้ามตกค้างอยู่ในสินค้า เป็นอัตราการปฏิเสธนำเข้าที่สูงกว่าในระยะสามปีก่อนหน้านั้น
เมื่อเริ่มต้นปี 2015 จำนวนสินค้ากุ้งแช่เยือกแข็งที่ถูกปฏิเสธการนำเข้าด้วยเหตุผลนี้ยังคงมีจำนวนพุ่งสูงขึ้น ในระยะห้าเดือนแรกของปี 2015 USFDA ปฏิเสธการนำเข้าไปแล้ว 203 รายการตามที่ระบุบนเอกสารนำเข้า (entry lines) นับได้ว่าการปฏิเสธนำเข้ากุ้งในขณะนี้มีจำนวนที่สูงทำสถิติในรอบ 10 ปี
ในระยะห้าเดือนแรกของปี 2015 จำนวนกุ้งนำเข้าจากมาเลเซียและอินเดียถูกปฏิเสธการนำเข้า ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะต้องห้าม (nitrofurantoin) มากกว่าทุกประเทศและมากกว่าการนำเข้าจากมาเลเซียในปีก่อนๆ ในจำนวนกุ้งนำเข้า 58 รายการ ตามที่ระบุบนเอกสารนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2015 จำนวน 45 รายการ เป็นกุ้งที่ส่งมาจากมาเลเซียและเป็นจำนวนที่เท่ากับจำนวนกุ้งนำเข้าจากมาเลเซียที่ถูกปฏิเสธ การนำเข้าด้วยเหตุผลเดียวกันในปี 2012 และ 2013 รวมกัน
เป็นที่สังเกตว่ากุ้งนำเข้าที่ถูกปฏิเสธเหล่านี้มีประกาศนียบัตร The Best Aquaculture Practices program (BAP) แนบมาด้วย นอกจากมาเลเซียและอินเดียแล้ว เวียดนามและจีนเป็นอีกสองประเทศแหล่งอุปทานที่มีปัญหาเรื่องยาปฏิชีวนะตกค้างในสินค้ามากที่สุด
วันที่ 5 มิถุนายน 2015 USFDA ประกาศ Import Alert “Detention Without Physical Examination of Shrimp” กุ้งสดและกุ้งสดแช่เยือกแข็งนำเข้าจาก 6 ประเทศ คือ บังคลาเทศ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนิเซีย ไต้หวัน และประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่ามีปัญหาเรื่อง salmonella, การเน่าเสีย และสกปรก ทำให้กุ้งสดและกุ้งสดแช่เยือกแข็งจากประเทศเหล่านี้เมื่อนำเข้าไปยังสหรัฐฯ จะถูกกักทันทีโดยไม่ต้องมีการตรวจ
ทั้งนี้ ยกเว้นสินค้าจากบริษัทที่ได้รับ Green List จะไม่ถูกกักกุ้งนำเข้าที่ถูกกักเหล่านี้ ผู้นำเข้าหรือเจ้าของสินค้าจะต้องพิสูจน์ให้USFDA เห็นว่าเป็นสินค้าที่ปลอดภัยและไม่มีการฝ่าฝืนโดยการนำตัวอย่างสินค้าไปวิเคราะห์ในห้องวิจัย และยื่นผลการวิเคราะห์ให้ USFDA พิจารณา ปัญหาเรื่อง transshipment สินค้ากุ้งนำเข้าสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ค้นพบว่าประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกกุ้งที่ในบางรายการโดนสหรัฐฯ ตั้งภาษีทุ่มตลาดหาทางหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยการ transshipment สินค้าผ่านเข้าไปยังประเทศมาเลเซียก่อนส่งเข้าสหรัฐฯ เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณกุ้งมาเลเซียที่ส่งเข้าไปยังตลาดสหรัฐฯ มีจำนวนพุ่งสูงผิดปกติ และทำให้สหรัฐฯ จับตามองมำเลเซียว่ากำลังทำการค้าที่เป็นการคดโกง
กุ้ง transshipment เหล่านี้ นอกจากจะมีศักยภาพที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเนื่องจากมียาปฏิชีวนะต้องห้ามตกค้างในสินค้าแล้ว การถูกส่งผ่านด้วยวิธี transshipment ยังทำให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ที่มาจากการเก็บภาษีนำเข้า และเนื่องจากสหรัฐฯ สามารถตรวจสินค้ากุ้งนำเข้าได้เพียงแค่ร้อยละ 2
กลุ่มผู้ผลิตกุ้งในสหรัฐฯ จึงได้อ้างว่า เรื่องนี้นอกจากจะเป็นอัตรายต่อผู้บริโภคและทำให้รัฐสูญเสียรายได้แล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตกุ้งสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน จึงได้เคลื่อนไหวให้มีการออกกฎหมายที่จะจัดหาแหล่งทรัพยากรให้แก่หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯเพื่อให้สามารถตรวจสอบกุ้งนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นและประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งการค้าที่เป็นไปอย่างผิดกฎหมายและไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตสหรัฐฯ
Charles Boustany Jr. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐหลุยเซียน่าที่เป็นรัฐผลิตกุ้งได้เสนอร่างกฎหมาย Preventing Recurring Trade Evasion and Circumvention (PROTECT) เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act of 2015 เรียกร้องให้มีการจัดหาแหล่งทรัพยากรที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ
Charles Boustany เคยนำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภามาแล้วในปี 2012 แต่ร่างกฎหมายไม่สามารถผ่านออกมาได้ ในเดือนมกราคม 2013 เขาได้ส่งร่างกฎหมายนี้เข้าไปเพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยใส่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act of 2015 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2015 ร่างนี้ผ่านการพิจารณาของ House Ways and Means Committee แล้ว ขณะนี้กำลังรอการพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ
ร่างกฎหมาย PROTECT เสนอให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่อีกหน่วยหนึ่งใน Customs and Border Protection Department ที่จะทำงานเน้นไปที่การใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ในการค้าและทำงานประสานกับหน่วยงานรัฐบาลกลางอื่นๆ ของสหรัฐฯ ในการดำเนินงานที่เป็นการป้องกันการโกงด้านการค้า
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังเสนอให้สร้างปฏิบัติการที่เป็นด้านการบริหารอย่างเป็นทางการขึ้นที่ Department of Commerce เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ สามารถทำการสืบสวนการโกงด้านการค้าได้ราคากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
ในปี 2014 และต้นปี 2015 เป็นต้นมา โรคที่เรียกกันว่า early mortality syndrome หรือ EMS ที่เกิด กับกุ้งเลี้ยงในฟาร์มในประเทศต่างๆ ในเอเซียและก่อความเสียหายอย่างหนักต่อการผลิตได้เริ่มคลี่คลายลง ปริมาณการผลิตกุ้งในประเทศต่างๆ เหล่านี้กำลังเพิ่มขึ้นและการส่งออกกุ้งฟื้นตัว
ขณะที่ความต้องการของตลาดนำเข้าสำคัญๆ เช่น จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นลดลง สาเหตุสำคัญ คือ การแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์และความต้องการลดลง ส่งผลให้กุ้งจำนวนมากกำลังไหลบ่าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ อีกครั้ง ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2015 ปริมาณนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.31 ราคานำเข้าเฉลี่ย ต่อกิโลกรัมลดลงร้อยละ 20.85 และมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 14.25 ปริมาณนำเข้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.16 ราคานำเข้าเฉลี่ยต่อกิโลกรัมลดลงร้อยละ 20.71 และมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 11.05
กุ้งจำนวนมากในตลาดทำให้ราคาขายส่งและขายปลีกกุ้งนำเข้าอยู่ในระดับต่ำและกระทบต่อราคากุ้งที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ ปัจจุบัน กุ้งที่ได้ในสหรัฐฯ จะมีราคาสูงกว่ากุ้งนำเข้าโดยเฉลี่ยแล้วประมาณหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ต่อปอนด์ ปกติแล้วคำสั่งซื้อกุ้งจำนวนมากในสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนเพื่อการขายในเทศกาลวันหยุดสำคัญๆ ของสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลัง
แต่ในปีนี้ เนื่องจากอุปทานกุ้งมีเป็นจำนวนมาก ราคากุ้งในตลาดสหรัฐฯ มีราคาต่ำและมีแนวโน้มว่าราคาจะลดลงอีกเมื่อมีรายงานคาดการณ์ผลผลิตจำนวนมากในปีนี้ส่งผลทำให้ผู้ซื้อรายใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงชะลอการสั่งซื้อกุ้งออกไปเพื่อรอราคาให้ลดต่ำลงกว่าปัจจุบัน และเป็นเรื่องปกติเช่นกันที่กุ้งจะมีราคาสูงขึ้นทันทีที่มีการสั่งซื้อของผู้ซื้อรายใหญ่ๆ
ข้อมูลล่าสุดของราคากุ้ง vannamei ขนาดบรรจุ 70 ตัวต่อกิโลกรัม ในตลาดสหรัฐฯ กุ้งอินเดีย เมื่อสัปดำห์ที่ 22 ของปี 2015 ราคา 220 INR/กิโลกรัม (ประมาณ 3.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม) กุ้งไทย เมื่อสัปดาห์ที่ 24 ของปี 2015 ราคา 156 บาท/กิโลกรัม หรือประมาณ 4.64 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม มีรายงานว่าก่อนหน้างานแสดงสินค้า Boston Seafood กุ้งไทยมีราคาสูงเพราะผู้ผลิตไทยคาดหวังว่าจะได้รับการสั่งซื้อ แต่การสั่งซื้อไม่เกิดขึ้นทำให้ภายหลังจากงาน Boston Seafood ราคากุ้งไทยลดลง
ที่มา:
- BusinessLine: “US rejects Indian shrimp lots on antibiotics”, by Amrita Nair-Ghwaswalla, June 17, 2015
- Southern Shrimp Alliance: “FDA is Cracking Down on Contaminated Shrimp Imports”February 4, 2015 3. Undercurrentnews: “US shrimp importers hold off on ‘big buy’”, by Tom Seaman, June 16, 2015
แหล่งอ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหัรฐอเมริกา
ประเภทข่าว
แหล่งข้อมูลข่าวเศรษฐกิจ
- กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาร์เจนตินา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแคนาดา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในชิลี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเม็กซิโก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในออสเตรเลีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเมียนมาร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในรัสเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในบราซิล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเยอรมนี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเดนมาร์ก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอียิปต์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในฮังการี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในนอร์เวย์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในปากีสถาน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในศรีลังกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินเดีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิหร่าน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเกาหลีใต้
- ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในฟิลิปปินส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาเลเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในลาว
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในญี่ปุ่น
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในไต้หวัน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในยุโรป
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแอฟริกาใต้
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเซเนกัล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเนปาล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาดากัสการ์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในคูเวต
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิสราเอล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาเซียน