บราซิล : ประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์ปีกที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ด้วยอัตราการบริโภคภายในประเทศที่มีมากถึง 69% ชาวบราซิลแต่ละคนจะบริโภคไก่ถึงปีละ 41.8 กิโลกรัมและยังนิยมบริโภคเนื้อไก่ทั้งตัวซึ่งเป็นผลมาจากราคาเนื้อไก่ที่ต่ำกว่าเนื้อวัว อย่างไรก็ตามโครงสร้างความต้องการเนื้อไก่ของผู้บริโภคบราซิลเริ่มเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เศรษฐกิจบราซิลมีเสถียรภาพในค.ศ.1994 ผู้บริโภคชนชั้นกลางและชนชั้นสูงส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกแปรรูปรายใหญ่ของบราซิลได้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนแผนการขายเป็นการขายชิ้นส่วนเนื้อไก่รวมกัน (ส่วนใหญ่เป็นเนื้อสะโพกและหน้าอก) รวมทั้งเนื้อไก่แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น เนื้อไก่พร้อมปรุง นักเก็ต เบอร์เกอร์ไก่ ฯลฯ ต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์บางส่วนให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น ตลาดอาหารจานด่วนจึงเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจเนื้อไก่ในบราซิล
อุตสาหกรรมไก่ของบราซิลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มีแรงงานชาวบราซิลในภาคอุตสาหกรรมนี้มากถึง 3.6 ล้านคน และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ถึง 1.5% นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต บริษัทแปรรูป และผู้ส่งออก โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเกษตรกรรมทางตอนใต้ของบราซิลหลายแห่ง เช่น รัฐปารานา (Paraná) รัฐริโอ กรังจิ โด ซุล (Rio Grande do Sul ) ฯลฯ
บราซิล – ตลาดไก่ไร้โรคภัย
การบูรณาการของอุตสาหกรรมไก่ในบราซิลเริ่มค.ศ.1960 ใช้หลักการห่วงโซ่การผลิต (Production chain) ที่สอดคล้องกันนับตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การเลี้ยงดู การบำรุงรักษา การฆ่าอย่างถูกสุขอนามัย การบรรจุผลิตภัณฑ์ และการแปรรูป คาดว่า 90% ของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกบราซิลอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและโรงฆ่าสัตว์ โดยผู้ประกอบการจะได้รับคำแนะนำและสนับสนุนจากสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายว่าการผลิตที่มีคุณภาพสูงส่วนใหญ่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ การเลี้ยงดูในพื้นที่ปิดปราศจากการติดเชื้อ การให้อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูง อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และอาหารสัตว์บราซิล (Ministry of Agriculture, livestock and Food Supply - MAPA) ได้ออกกฎหมายที่เคร่งครัดและรณรงค์ห้ามใช้สารเร่งการเจริญเติบโต (Hormones) แก่สัตว์เลี้ยง รวมถึงการเข้าตรวจสอบและควบคุมอย่างต่อเนื่องมิให้มีสารปนเปื้อนและสารตกค้างอยู่ในสัตว์ที่จะส่งผลต่อไปยังผู้บริโภค น่าชื่นชมว่าบราซิลยังไม่มีการระบาดของไข้หวัดนกจนถึงทุกวันนี้
ด้านสุขอนามัยนั้น บราซิลให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของสัตว์และเป็นไปตามหลักขององค์การ World Organization for Animal Health (OIE) มิใช่หน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียวแต่เป็นความรับผิดชอบของภาคเอกชนด้วยในการส่งเสริมให้มีการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาและพัฒนาสุขภาพสัตว์ เมื่อครั้งยังมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในเอเชีย รัฐบาลบราซิลสนับสนุนสภาการพัฒนาสัตว์ปีกเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้หวัดนกในบราซิลรวมทั้งมีข้อบังคับด้านสุขภาพสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสุขภาพสัตว์ปีกแห่งชาติ
อีกทั้งนำมาตรการการป้องกันหลายด้านมาใช้ เช่น การเข้มงวดในการควบคุมที่ท่าเรือและท่าอากาศยานสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาจากเอเชีย ห้ามนำเข้าข้าวเปลือกจากประเทศในแถบเอเชีย ห้ามผู้ที่เดินทางมาจากเอเชียเดินทางเข้าไปในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกของบราซิล ฯลฯ จึงทำให้บราซิลยังไม่มีกรณีตรวจพบการเป็นไข้หวัดนก (Avian Influenza) หรือเชื้อโรคนิวคาสเซิล (Newcastle Disease) ของสัตว์ปีกใด ๆ เลย ทั้งนี้ การรับรองสุขภาพสัตว์ในบราซิลต้องผ่านการรับรองสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (International Health Certificate - CSI) ออกโดยสัตวแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการสำหรับการวินิจฉัยโรค รวมถึงสัตว์ต้องผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับด้านการส่งออก บราซิลให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักการและข้อกำหนด ภายใต้การควบคุมของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และอาหารสัตว์บราซิล บริษัทเอกชนที่ต้องการจะส่งออกต้องลงทะเบียนกับศูนย์ตรวจสอบของรัฐบาลกลาง (The Federal Inspection Service - SIF) จากนั้น ต้องผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรมตรวจสอบแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Department of Inspection of Products of Animal Origin - IPOA) ของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองการเกษตร (Secretariat of Agricultural Protection - SDA) ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรบราซิลฯ ทั้งนี้ รายชื่อบริษัทฯ ส่งออกที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วจะถูกรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบในฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรบราซิลฯ
บราซิล – ตลาดไก่ฮาลาลของโลก
ปัจจุบันไก่ฮาลาลของบราซิลเป็นที่นิยมอย่างสูง เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าฮาลาลสะอาดและถูกสุขอนามัย ทั้งนี้ บราซิลเป็นผู้ส่งออกไก่และเนื้อสัตว์ให้ประเทศมุสลิมมากที่สุดในโลก ปริมาณไก่ที่บราซิลส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 45% จะส่งออกไปยังตลาดมุสลิมทั่วโลก (จำนวนดังกล่าว 35% คือ ตลาดในตะวันออกกลาง) กลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางล้วนให้ความสำคัญกับบราซิลในฐานะเป็นตลาดส่งออกไก่ฮาลาลของโลก โดยบราซิลเริ่มต้นจากการส่งสินค้าฮาลาลไปยังอิรักใน ค.ศ.1976 และผู้ประกอบการชาวบราซิลให้ความสำคัญแก่ตลาดฮาลาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้หลายบริษัทของบราซิลจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากประเทศมุสลิมมาฝึกอบรมและช่วยตรวจสอบกรรมวิธีการผลิต เช่น การฆ่าสัตว์อย่างถูกวิธีตามธรรรมเนียมปฏิบัติฮาลาลเพื่อการรับรองความถูกต้องตามหลักฮาลาลอย่างแท้จริง (Halal Certification)
ค.ศ. 2013 เพียงปีเดียว การส่งออกไก่ของบราซิลมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3. 9 ล้านตัน คิดเป็น 37% ของสัดส่วนการแบ่งการส่งออกไก่ของตลาดโลก โดยประเทศที่นำเข้าไก่จากบราซิลสูงสุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ (1) ซาอุดีอาระเบีย (2) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (3) แอฟริกาใต้ (4) คูเวต และ (5) อียิปต์
บราซิล – ไทย และการต่อยอดตลาดสัตว์ปีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนไทยเชี่ยวชาญเรื่องอุตสาหกรรมสัตว์ปีก (เนื้อไก่) และเป็นหนึ่งในเอเชีย จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ไทยและบราซิลสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันได้ โดยบริษัทไทยอาจร่วมทุนกับบริษัทหรือผู้ประกอบการชาวบราซิลที่กำลังจะขยายกิจการหรือดำเนินกิจการไม่ดีนัก (หรือมีปัญหาเรื่องเงินทุน) เพื่อผลิตสินค้าเนื้อไก่ทั้งที่แปรรูปและสำเร็จรูปซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งการนำเทคโนโลยีชั้นสูงของไทยเข้ามาผสมผสานกับแนวปฏิบัติของบราซิลก็จะสร้างผลกำไรให้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ บราซิลยังมีสมาคมผู้ส่งออกสัตว์ปีกแห่งบราซิล (Brazilian Chicken Producers and Exporters Association – ABEF) เป็นตัวช่วยสนับสนุนการเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับการส่งออกเนื้อไก่ของบราซิล
26 กุมภาพันธ์ 2558
แหล่งข้อมูล:
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย
โดย:
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ประเภทข่าว
แหล่งข้อมูลข่าวเศรษฐกิจ
- กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาร์เจนตินา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแคนาดา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในชิลี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเม็กซิโก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในออสเตรเลีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเมียนมาร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในรัสเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในบราซิล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเยอรมนี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเดนมาร์ก
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอียิปต์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในฮังการี
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในนอร์เวย์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในปากีสถาน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในศรีลังกา
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินเดีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิหร่าน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเกาหลีใต้
- ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในฟิลิปปินส์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาเลเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในลาว
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในญี่ปุ่น
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในไต้หวัน
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในยุโรป
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในแอฟริกาใต้
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเซเนกัล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเนปาล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในมาดากัสการ์
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในคูเวต
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอิสราเอล
- ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในอาเซียน